เป็ดเชลดัก ถือว่าเป็นนกหายาก(มาก) และไม่เคยคาดหวังว่าจะได้เจอในมอ (ขนาดเจอทั้งวันยังงงว่า นกปลอม (นกเลี้ยง) รึเปล่าหว่า… ฮาาาา)
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 จึงเป็นเรื่องตื่นเต้นมากของนกดูนกที่อยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีเจ้าเป็ดเชลดักมาปรากฎตัวที่บ่อที่สองของบ่อบำบัดน้ำเสีย ต่างก็รีบเร่งออกไปดูกัน แต่นางก็ล่องลอย และหลับเป็นส่วนใหญ่อยู่ในบ่อนั้นทั้งวัน ตอนเย็นๆจึงค่อยเห็นบินไปลงฝั่งบ่อประมง สักพักก็บินกลับมา ค่ำๆ ก็บินหายไปเลย นางเลยเป็นนกใหม่ในมอ ตัวแรกของปี 2564

Thai Name : เป็ดเชลดัก
Common Name : Common Shelduck
Scientific Name : Tadorna tadorna
ขนาด : 58-67 ซม.
ลักษณะ : ขนลำตัวสีขาว หัวและคอประมาณครึ่งหนึ่งสีเขียวเข้มเป็นมัน ปากสีแดงสด อกมีแถบขนาดใหญ่สีน้ำตาลแดงต่อเนื่องถึงหลัง โคนปีกและปลายขนปีกสีดำ แข้งและตีนสีชมพูเข้ม ตัวผู้ มีปุ่มคล้ายกระบังเล็กๆ ที่โคนปาก มีขนาดใหญ่ขึ้นในฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมีย ขนาดเล็กกว่า ไม่มีปุ่มที่โคนปาก
พฤติกรรม : ชอบเดินหากินตามชายเลน ริมน้ำและว่ายจิกกินตามผิวน้ำ
ถิ่นอาศัย : แม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำต่างๆ บางครั้งพบในนาเกลือ
สถานภาพ : นกอพยพ หายาก
การพบใน ม.ขอนแก่น : พบลอยหากินที่บ่อบำบัดน้ำเสีย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 จำนวน 1 ตัว


แหล่งอ้างอิง : คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย และหนังสือ Thailand BIRD GUIDE รุ่งโรจน์ จุกมงคล
ภาพถ่ายโดย : สุภาพร เทียมวงศ์