Posted on

Thai Name : นกเป็ดผีเล็ก
Common Name : Little Grebe
Scientific Name : Tachybaptus ruficollis
Family Podicipedidae (: Grebes)
Order Podicepediformes

ในกลุ่มนกเป็ดผี นี้ ทั่วโลกมี 23 ชนิด (ioc_List_11.1) ในประเทศไทยพบ 3 ชนิด ได้แก่ นกเป็ดผีใหญ่ นกเป็ดผีคอดำ และนกเป็ดผีเล็ก
ใน ม.ขอนแก่นพบจำนวน 1 ชนิด คือ นกเป็ดผีเล็ก

สำหรับแอดมิน ถ้าจะให้จัดลำดับว่านกใน ม.ขอนแก่นที่พบได้ง่าย และมีรูปถ่ายมากที่สุด คือนกอะไร ก็ต้องยกให้เจ้านกเป็ดผีเล็กนี่หล่ะ
เพราะทุกครั้งที่ออกไปบ่อบำบัดน้ำเสีย จะเห็นนกเป็ดผีเล็กกระจายอยู่เกือบทุกบ่อ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่เยอะมากๆ ก็จะเป็นบ่อที่ 1-4 บางวันรวมฝูงกันเป็น 30-40 ตัว วนหากินทั่วบ่อ แถมยังทำรังวางไข่แทบจะทั้งปี จึงมีโอกาสที่จะได้ถ่ายรูปอยู่บ่อยๆ

มาทำความรู้จักกับนกเป็ดผีเล็กกัน

ลักษณะทั่วไป นกเป็ดผีเล็กเป็นนกน้ำขนาดเล็ก มีขนาด 23-29 ซม. ปากแหลมสีเหลืองอ่อน หน้าผาก ท้ายทอยถึงหลังสีน้ำตาลเข้ม หน้า ข้างคอ อก และท้องสีน้ำตาลแกมเหลือง หางสั้นกุด

ชุดขนผสมพันธุ์ หน้าและข้างคอสีน้ำตาลแดงเข้ม สีข้างน้ำตาลเข้ม ปากดำ โคนปากเหลือง ตาเหลือง

นกเป็ดผีเล็ก มีนิ้วตีนแผ่ออกเป็นแผ่นแบนเป็นช่วงๆ จากโคนถึงปลายนิ้ว แต่ละนิ้วแยกจากกัน (ไม่ติดกันเหมือนตีนเป็ด)

นกเป็ดผีเล็กเป็นนกที่ดำน้ำเก่ง ชอบดำน้ำผลุบหายแล้วไปโผล่อีกที่ไกลๆ จึงได้ชื่อว่าเป็ดผี
ส่วนใหญ่นกจะใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเกือบตลอดเวลา เห็นบินหรือวิ่งบนน้ำบ้างในระยะใกล้ๆ ตอนที่ข้ามจากบ่อนึ่งไปอีกบ่อนึ่งหรือโดนไล่ตีจากตัวอื่น กับตอนกกไข่ เลี้ยงลูกที่จะเห็นนกยืนอยู่บนรัง

ที่เห็นเป็นประจำอีกอย่างคือเวลาที่พักผ่อน เล่นน้ำแล้วยกตัวสลัดขนสบัดปีก

เป็ดผีเล็กมีความเชี่ยวชาญในการจับปลามาก แต่ก็นานๆ ถึงจะเห็นเอาปลาขึ้นมาโชว์

นกเป็ดผีเล็ก จับคู่ทำรังวางไข่เกือบทั้งปี ที่บ่อบำบัดน้ำเสียของเราพบว่าทำรังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ช่วงที่เจอเยอะ จะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน รังจะอยู่ริมบ่อ บางรังก็ทำในที่โล่งๆ บางรังก็มีหญ้าบังมิดชิด ถ้าผ่านไปตรงไหนแล้วมีเป็ดผีลอยตามกันออกมา 2 ตัว เดาได้ว่าแถวนั้นมีรังแน่นอน
วัสดุที่นำมาทำรังส่วนใหญ่จะเป็นซากพืชที่อยู่แถวๆ นั้น รังสูงจากน้ำประมาณ 3 – 14 ซม. ไข่ 1-6 ฟอง/รัง ไข่สีขาว ที่บ่อฯ เห็นฟักออกมา 1-5 ตัว ส่วนใหญ่ประมาณ 3-4 ตัวต่อครอบครัว

ช่วงกกไข่ (ประมาณ 21 วัน) นกจะไม่มีการหาอาหารมาป้อนกัน แต่จะใช้วิธีผลัดกันกกไข่ เมื่อตัวหนึ่งออกไปหากิน (ซึ่งก็จะไม่ห่างจากรังมากนัก ถ้ามีตัวอื่นหรือนกชนิดอื่นมาใกล้ ก็จะรีบกลับมาขับไล่) อีกตัวจะอยู่บนรัง ในขณะที่กกไข่ ถ้ามีคนมาใกล้ นกจะรีบลุกขึ้น ใช้ปากคุ้นหญ้าที่อยู่รอบมาคลุมไข่ไว้ แล้วลงจากรัง มุดน้ำออกไป สักพักถ้าเห็นว่าปลอดภัยก็จะกลับมา แต่ก็มีบ้างที่จวนตัวจริงๆ นกก็จะหนีลงไปเลย (ถ้าเจอแบบนี้เราก็ต้องรีบหนีให้ห่าง นกจะได้กลับมากกไข่ต่อไป)

เมื่อถึงเวลาออกจากไข่ ลูกนกจะเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ออกมาได้ 2-3 ชั่วโมง ก็แข็งแรงพอจะว่ายน้ำเองได้ แต่ส่วนใหญ่จะยังอยู่ในรัง หากยังมีไข่ที่ต้องฟักเหลืออยู่ พ่อแม่นกจะสลับกันออกไปหาอาหารมาเลี้ยงตัวเล็กที่ออกมาแล้ว มาดูว่าเด็กๆ มีอะไรกินบ้าง เยอะสุดเห็นจะเป็นตัวอ่อนแมลงปอ (แมงละงำ) พอลูกนกโตขึ้นหน่อย พ่อแม่จะพาลูกออกไปลอยหากิน

ลูกนกจะมีปากสีแดง ขาดำ มีขนอุยสีดำปกคลุมลำตัว มีแถบสีน้ำตาลแดงสลับขาวคาดจากกระหม่อมถึงท้ายทอย 4 แถบ

ลูกนกจะหากินร่วมกับพ่อแม่เป็นเวลาราว 3-4 เดือน จึงจะไปรวมฝูงกับนกครอบครัวอื่น เมื่ออายุ 1 ปี จึงจะโตพอจับคู่ได้

ส่วนใหญ่จะเห็นนกเป็ดผีเล็กหากินอยู่เป็นคู่ๆ แต่บางวันก็จะรวมฝูงกันเยอะเลย


****

ขนาด : 25-29 ซม.
ลักษณะ : ปากแหลมสีเหลืองอ่อน หน้าผาก ท้ายทอยถึงหลังสีน้ำตาลเข้ม หน้า ข้างคอ อก และท้องสีน้ำตาลแกมเหลือง หางสั้นกุด ชุดขนผสมพันธุ์ หน้าและข้างคอสีน้ำตาลแดงเข้ม สีข้างน้ำตาลเข้ม ปากดำ โคนปากเหลือง ตาเหลือง นกวัยอ่อน ขนลำตัวสีน้ำตาล มีลายขาวเป็นแถบบริเวณหัว
พฤติกรรม : พบตามลำพังหรือเป็นคู่ ว่ายอยู่บนผิวน้ำ ดำลงไปไล่จับสัตว์เล็กๆ ใต้น้ำได้เก่ง หากตกใจมักดำน้ำหนีไปโผล่ไกลๆ หรือวิ่งบนผิวน้ำอย่างรวดเร็ว หากมีลูกตัวเล็กๆ จะให้ลูกขึ้นหลัง แล้วพาลอยออกไปไกลๆ หากเป็นช่วงกกไข่ หากมีสิ่งรุกรานใกล้รังจะคาบวัสดุที่ใช้สร้างรังมาคลุมไข่ไว้ แล้วลอยออกห่างรัง
ถิ่นอาศัย : หนอง บึง ทะเลสาบ ที่ราบถึงความสูง 800 ม.
สถานภาพ : นกประจำถิ่น พบบ่อยมาก
การพบใน ม.ขอนแก่น : นกอพยพ พบบ่อยมาก พบหากิน ทำรัง วางไข่ ในบ่อบำบัดน้ำเสีย มข.

แหล่งอ้างอิง : คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย และหนังสือ Thailand BIRD GUIDE รุ่งโรจน์ จุกมงคล
ภาพถ่ายโดย : สุภาพร เทียมวงศ์